Back

อำนาจหน้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

Homeอำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

      มหาวิทยาลัยวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู โดยมีภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ดังนี้

      1) แสวงหาความจริงเพื่อสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล
      2) ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรักและผูกพันต่อท้องถิ่น อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อช่วยให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การผลิตบัณฑิตดังกล่าวจะต้องให้มีจำนวนและคุณภาพสอดคล้องกับแผนการผลิตบัณฑิตของประเทศ
      3) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่า ความสำนึก และความภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ
      4) เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และนักการเมืองท้องถิ่นให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรม และความสามารถในการบริหารงานพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
      5) เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง
      6) ประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัยชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
      7) ศึกษาและแสวงหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่นรวมถึงการแสวงหาแนวทางเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
      8) ศึกษา วิจัย ส่งเสริม และสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ ในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

      โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาใน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์บนพื้นฐานภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งองค์ความรู้สู่การพัฒนาท้องถิ่นมีการดำเนินการตามภารกิจได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
วิสัยทัศน์คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเป็นต้นแบบการผลิตและพัฒนาครู วิจัย สร้างองค์ความรู้ พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นวัตกรรม นำพาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ
      1. ยกระดับคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
      2. การผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูให้มีสมรรถนะและคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ
      3. ยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
      4. การพัฒนาท้องถิ่นและสังคมสู่ความยั่งยืน
      5. การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
      6. พัฒนาระบบบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพ
      เพื่อนำไปสู่เป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งมี 6 เป้าประสงค์ และ 15 กลยุทธ์การดำเนินงาน และเป็นต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูดังวิสัยทัศน์ที่ตั้งเป้าหมายไว้