Back

นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดเปิดกิจกรรมแสดงผลงาน “นวัตกรรมแก้จน คนศรีสะเกษ ครั้งที่ 2” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ ทองพันชั่ง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม

ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตระหนักถึงบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจที่สำคัญคือการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2566-2570 ประเด็นการพัฒนาที่ 1 ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานอย่างครบวงจร และประเด็นการพัฒนาที่ 3 พัฒนาเมืองน่าอยู่ สู่คุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ ในปีงบประมาณ 2565 มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณีจังหวัดศรีสะเกษ ระยะที่ 3” จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สหัสา พลนิล เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย พื้นที่เป้าหมายการวิจัย คืออำเภอเมือง ศรีสะเกษ ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เป็นโมเดลแก้จน (OM) ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ รวมกลุ่มเป้าหมาย 770 ครัวเรือน ดำเนินการใน 4 โครงการ ได้แก่ 1) การแปรรูป ผักกะแยงแบบประหยัดน้ำและเพิ่มมูลค่าทางการตลาด (หัวหน้าโครงการ ผศ.พนิดา พานิชกุล และคณะ) 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยกระบวนประหยัดน้ำสำหรับแก้ไขปัญหาความยากจน (หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.อนุวัตน์ ศรีสุวรรณ์ และคณะ) 3) ผ้าทอศรีลำดวน : ทุนทางวัฒนธรรมบนความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนคนจน (หัวหน้าโครงการ ผศ.ธีรพงศ์ สงผัด และคณะ) 4) รูปแบบการบริหารจัดการกองทุนน้ำยั่งยืนเพื่อสวัสดิการ ครัวเรือนคนจนและคนด้อยโอกาส อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ (หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น และคณะ) เพื่อยกระดับรายได้ของกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้การดำเนินการวิจัยดังกล่าวได้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การจัดกิจกรรมแสดงผลงาน “นวัตกรรมแก้จน คนศรีสะเกษ ครั้งที่ 2” นี้มี วัตถุประสงค์

1. เพื่อจัดแสดงผลงานการวิจัย ออกสู่สาธารณะ และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย

2. กิจกรรมระดมทุน “กองทุนน้ำยั่งยืนเพื่อสวัสดิการ ครัวเรือนคนจนและคนด้อยโอกาส””

3. เวทีการสนทนา ประเด็น “แนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน อย่างยั่งยืน”

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้แทนหน่วยสนับหนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม บพท. ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ราชภัฏศรีสะเกษ สื่อมวลชล และผู้ให้ความสนใจทั่วไป

การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือจาก หน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานชลประทาน องค์การบริหารส่วนตำบล 18 พื้นที่อำเภอเมือง ผู้นำชุมชน และกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกโครงการ


ภาพและข่าว,ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ


Loading